ชื่อผลงาน รายงานผลการใช้หนังสือภาพประกอบคำคล้องจอง ชุดเชียงรายบ้านเรา
เพื่อพัฒนาความสามารถทางภาษาด้านการฟังและการพูดของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 โรงเรียนเทศบาล 4สันป่าก่อ
ผู้ศึกษา นางสาวพรนภา อิ่นแก้ว
ปีการศึกษา 2554
บทคัดย่อ
รายงานผลการใช้หนังสือภาพประกอบคำคล้องจอง ชุด เชียงรายบ้านเรา เพื่อพัฒนาความสามารถทางภาษาด้านการฟังและการพูดของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 ปีการศึกษา 2554 โรงเรียนเทศบาล 4 สันป่าก่อ ตำบลรอบเวียง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) สร้างและพัฒนาหนังสือภาพประกอบคำคล้องจองชุด เชียงรายบ้านเรา ที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 2) ศึกษาผลของการใช้หนังสือภาพประกอบคำคล้องจอง ชุด เชียงรายบ้านเรา ที่มีต่อพัฒนาการความสามารถด้านการฟัง และการพูดของเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 2 และ3) ศึกษาความคิดเห็นของนักเรียนและผู้ปกครองที่มีต่อการจัดกิจกรรมพัฒนาความสามารถด้านการฟังและการพูดโดยใช้หนังสือภาพประกอบคำคล้องจอง ชุด เชียงรายบ้านเรา
กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้เป็นนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2/1 จำนวน 27 คน ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2554 โรงเรียนเทศบาล 4 สันป่าก่อ ตำบลรอบเวียง อำเภอเมือง งหวัด เชียงราย เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา ประกอบด้วย หนังสือภาพประกอบคำคล้องจองชุด เชียงรายบ้านเรา ของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 โรงเรียนเทศบาล 4 สันป่าก่อ สังกัดสำนักการศึกษาเทศบาลนครเชียงราย จำนวน 6 เล่ม แบบทดสอบความสามารถทางภาษาด้านการฟังและการพูด จำนวน 25 ข้อ แผนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ระดับปฐมวัยประกอบการใช้หนังสือภาพประกอบคำคล้องจองชุด เชียงรายบ้านเรา ของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 จำนวน 24 แผน และแบบสอบถามความคิดเห็นของนักเรียนและผู้ปกครองนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 ที่มีต่อการใช้หนังสือภาพประกอบคำคล้องจอง ชุดเชียงรายบ้านเรา ในการพัฒนาความสามารถทางภาษาด้านการฟังและการพูด สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและค่าร้อยละความก้าวหน้า ผลการศึกษาพบว่า
1. หนังสือภาพประกอบคำคล้องจอง ชุดเชียงรายบ้านเรา เพื่อพัฒนาความสามารถทางภาษาด้านการฟังและการพูดของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 มีค่าประสิทธิภาพสูงกว่าเกณฑ์ประสิทธิภาพ 80/80 ที่กำหนดไว้
2. ผลการพัฒนาความสามารถทางภาษาด้านการฟังและการพูด ของนักเรียนที่เรียนโดยใช้หนังสือภาพประกอบคำคล้องจอง ชุด เชียงรายบ้านเรา หลังการจัดกิจกรรมเสริมประสบการณ์
สูงกว่าก่อนการจัดกิจกรรมเสริมประสบการณ์ โดยค่าเฉลี่ยร้อยละหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนและค่าร้อยละความก้าวหน้ามีค่าสูงกว่าเกณฑ์ความก้าวหน้าที่ผู้ศึกษาได้ตั้งไว้คือ ร้อยละ 25
3. นักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2/1 มีความคิดเห็นต่อหนังสือภาพประกอบคำคล้องจอง ชุดเชียงรายบ้านเรา โดยรวมมีค่าเฉลี่ยของความคิดเห็นอยู่ในระดับ มาก และผู้ปกครองส่วนใหญ่มีความคิดเห็นว่าควรมีการจัดกิจกรรมในลักษณะนี้อีก